วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ห้องภาพ (Gallery)

เปิดภาพเก่าๆมาดู แล้วก็คิดถึงปลาตัวนี้ 3/4 black สีแดงตรงไหล่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็น 3/4black ของจริง แวะเวียนไปตามร้านปลาหางนกยูงปัจจุบัน ไม่เห็นแล้ว



มอสโควสีน้ำเงินเกือบดำ เป็นมอสโควน้ำเงินที่มีเขื้อดำ ทำให้ไม่ถอดสี วางมือไปจากตัวนี้หลายปีแล้ว ด้วยความจำกัดของพื้นที่





ปลาจำนวนยอดนิยม เป็นปลาผสมหลายลักษณะที่ลงตัว แข็งแรงตัวโต ลูกดก สวยงาม Platinum Cobra Tuxedo Mosaic เมื่อไม่นานมานี้ได้พบบนตู้ปลาเกรด ,มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เรียก Mogano 



พื้นบลู พยายามเพาะลูก แต่ไม่สำเร็จ คิดว่าตัวเมียคงได้รับการเลี้ยงด้วยฮอร์โมน เพื่อให้สีจัด และเป็นหมัน ได้มาจากห้างแห่งหนึ่ง ใน กทม ปลาดูคล้าย blue tuxedo แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ เพราะมันเป็นพื้นบลู เสียดาย ถ้าได้ลูกมาคงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร



Micariff Sunset สีเหลืองทอง ขอบหางสีแดง ตัวนี้ไม่อยู่แล้ว คงเหลือแต่ลูกหลานที่ ที่ได้ดัดแปลงใส่แพลตินัมเข้าไปที่ยังอยู่จนถึงวันนี้


Platinum Micariff Sunset  ผลพวงจากการติดแพลตินัม ให้กับไมคาริฟ


แพลตินัมไตรรงค์ เป็นปลาที่อยากปั้นให้เป็นปลา signature ของตัวเองไปแล้ว หลังจากพบคร้้งแรกเมือหลายปีก่อน แล้วนำมาปั้นแบบล้มลุกคลุกคลานเกือบวายไปก็หลายครั้ง แต่ก็ยังคงเหลือรอดมาให้เลี้ยงต่อได้เรื่อยๆ ปลาที่มีหางสามแถบสีคล้ายธงไตรรงค์ พริ้วไหวโบกสะบัดไปมา



ด้านใต้นี้เป็นรุ่นลูกของสองตัวในรูปด้านบน ภาพถ่ายเมื่อ 24/6/2561



ไตรรงค์ในแบบปลาป่า 


Tiger, Gold หรือ ฺBronze เรียกกันหลายชื่อ สำหรับพื้นสีนี้ ส่วนใหญ่ปลาพื้นสีนี้ ที่พบบ่อยจะไม่เป็นสีแดง จนคิดว่าจะมีแต่ดำๆเหลืองๆ แต่แล้วสีแดงมันก็ปรากฎมาให้เห็น Tiger Platinum Red


ตัวเมียก็แดง ชอบลายตาข่ายบนลำตัวของไทเกอร์ ทำให้ดูแตกต่างจากปลาอื่นๆ


Lazuri อัญมณีสีฟ้า


วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปลาหางนกยูง: เรื่องเล่าในห้องปลา

ปลาหางนกยูง: เรื่องเล่าในห้องปลา: ตู้รวมมิตร      ช่วงนี้ปิดเทอม ไปเดินจตุจักร เห็นปลาขายเป็นถุงๆ ถุงละ 25 ตัว ห้าสิบบาท มีหลากหลาย มีทั้งทักสิโด ฟูลโกลด์ หลายตัวติดแพลตินั...

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปลาหางนกยูง ( Guppy )

       ปลาหางนกยูง เป็นปลาที่ผมรู้จักครั้งแรก ตั้งสมัยยังเป็นเด็กพบในแหล่งน้ำในท้องทุ่ง เป็นปลาตัวเล็กๆตัวใสๆ ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมีย ผมชอบตักเอามาใส่ในขวดโหล ตัวผู้ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเหลือบคล้ายสีรุ้ง บริเวณลำตัวหรือหางมีจุดสีดำ ทำให้มองดูคล้ายหางนกยูง นักวิชาการบางคนเล่าว่า จุดสึดำบนลำตัว หรือหางที่สำท้อนแสง ทำให้มองดูคล้ายลูกในตาของสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ปลาอื่นที่โตกว่าไม่กล้าเข้าใกล้ และทำให้มันอยู่รอดจากการถูกจับกินเป็นอาหาร ปลาหางนกยูตัวเมียตัวยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ตัวใสๆไม่มีสี ตัวอ้วนๆน่ารัก ปลาหางนกยูงออกลูกเป็นตัว น่าตื่นเต้นมากเวลาที่พบว่ามีลูกปลาเกิดใหม่ในขวดโหล ผมเลี้ยงปลาหางนกยูงด้วย ลูกไรน้ำ และลูกน้ำ แต่เข้าใจว่ามันสามารถกินอาหารอื่นๆได้อีกมากมาย รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงปลา
     ในปัจจุบัน ปลาหางนกยูงที่มีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มีความแตกต่างไปจากปลาหางนกยูงทางธรรมชาติมาก เป็นผลจากการคัดเลือก ผสมพันธุ์ให้มีความสวยงาม ด้านสีสัน และขนาดของลำตัวและครีบที่ใหญ่กว่าเดิม




วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิธีเลี้ยง

น้ำ

        น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาหางนกยูง ควรเป็นน้ำจืดที่สะอาด ไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ ไม่เป็นกรดเป็นด่่าง ในน้ำสามารถมีสารละลายที่ไม่่เป็นพิษ ไม่ควรมี คลอรีนซึ่งนิยมใช้ฆ่าเชื้อในน้ำ  แอมโมเนียจากการขับถ่าย ไนไตรท์จากการย่อยสลายของระบบจุลินทรีย์ที่ไม่สมบูรณ์  ไม่มีสารชีวภาพเช่นเศษอาหาร ขี้ปลามากจนเกินกว่าการย่อยสลายที่ตู้เลี้ยงสามารถรองรับได้ เศษอาหาร ขี้ปลาที่มากจนเกินไปส่งเสริมการเจริญของเชื้อโรค และการเป็นพิษของน้ำ
         ปลาหางนกยูงสามารถอยู่ในน้ำที่มีสารละลายทางธรรมชาติต่ำเช่น น้ำประปาที่ผ่านการพักเพื่อกำจัดคลอรีนแล้ว จนถึง น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีสารละลายสูง เมื่อเราได้ปลาหางนกยูงมาเราจะเริ่มต้นอย่างไร จะให้ปลานั้นอยู่ในน้ำแบบไหน จึงไม่ใช่สูตรที่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำอย่างทันทีเป็นอันตรายอย่่างยิ่งกับปลาหางนกยูง
        ในการปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำใหม่ของปลาหางนกยูง ถ้าเป็นการปรับตัวจากน้ำที่มีสารละลายต่ำ ไปสู่น้ำธรรมชาติที่มีสารละลายสูงกว่า จะทำได้ง่ายกว่า การปรับตัวจากน้ำเลี้ยงที่มีสารละลายสูงกว่าเช่นน้ำในบ่อหรือแหล่งน้ำธรรมชาติมาสู่น้ำที่มีสารละลายต่ำกว่าเช่นน้ำประปา เมื่อได้ปลามาใหม่การลอยถุงพลาสติกในตู้เพื่อปรับอุณหภูมิก่อนปล่อยปลาลงตู้ เป็นวิธีที่ใช้ได้ดี ถ้าน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาเดิมมีสภาพใกล้เคียงกับน้ำในตู้ของเรา หากน้ำที่ใช้มีความแตกต่างกัน เราควรเลี้ยงปลาในน้ำเดิมและค่อยๆเปลี่ยนถ่ายน้ำหรือเติมน้ำจนเป็นน้ำที่เราใช้เลี้ยงปลา ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน
      น้ำในตู้ปลาโดยทั่วไป เป็นน้ำที่เลี้ยงปลามาแล้วระยะหนึ่ง ในตู้จะมีระบบกรอง ซึ่งมีการย่อยเศษอาหารและของเสียได้ระดับหนึ่ง(ตู้เลี้ยงปลาหางนกยูงนิยมใช้การย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในกรองฟองน้ำ) สารละลายในน้ำจะประกอบด้วยสารจากการย่อยสลายของเสียที่ไม่เป็นพิษแล้ว รวมถึงสารหรือแร่ธาตุอื่นๆจากไม้น้ำและวัสดุอุปกรณ์ในตู้ ที่ละลายในน้ำได้ สิ่งใดๆที่ใส่ลงในตู้ปลาต้องระวังด้วยว่าอาจให้สารเป็นพิษละลายในน้ำ ปริมาณความเข้มข้นของสารละลายในน้ำจะขึ้นกับ จำนวนปลาในตู้ การถ่ายน้ำว่าถี่มากน้อยเพียงใด ประสิทธิภาพของระบบกรองและย่อยสลายของเสียในน้ำ
      การเลี้ยงปลาหางนกยูงนิยมเลี้ยงในตู้ โดยไม่มีอุปกรณ์ประดับตู้ ระบบกรองอาจเป็นกรองนอกตู้หรือกรองฟองน้ำ ทำให้ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย สิ่งสำคัญในการเลี้ยงปลาในตู้คือ ต้องคำนึงถึง การสมดุลของการเกิดของเสียและความสามารถของระบบการกำจัดและย่อยสลายสารที่เป็นพิษ ทำให้น้ำไม่เป็นพิษต่อปลา เช่นเมื่อปลาในตู้มีจำนวนมากการเกิดของเสียจากอาหารและการขับถ่ายของเสียมากเกินกว่าระบบย่อยสลายที่ระบบกรองจะกำจัดได้ทัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็จะต้องทำให้ถี่ขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดของเสียตกค้างในตู้มากเกินไป ในทางกลับกันถ้าปลาจำนวนน้อย การเกิดของเสียน้อย การย่อยสลายรวดเร็ว แต่การเลี้ยงปลาเป็นเวลานานโดยไม่มีการถ่ายน้ำ สารละลายในน้ำก็จะสะสมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลาให้เติบโตสวยงาม การถ่ายน้ำแต่น้อยในระยะเวลาที่ห่างขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ การเลี้ยงปลาให้แข็งแรงเจริญเติบโต นอกจากอาหารที่พอเพียง จึงยังต้องการการจัดการดูแลระบบการย่อยสลายและกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา

การจัดการน้ำ

แอมโมเนีย
     แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่มองไม่เห็นละลายในน้ำ สารแอมโมเนียเป็นสารที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ แหล่งกำเนิดของแอมโมเนีย เกิดจากการสลายของเศษอาหารที่หลงเหลือในตู้ปลา อาหารที่ให้ปลากินมากเกินไปทำให้ย่อยไม่หมดเมื่อขับถ่ายออกมา และส่วนหนึ่งที่ปลาขับออกมาทางเหงือก แอมโมเนียจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในตู้ปลา ในทางอุดมคติน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาต้องการให้มีแอมโมเนียเป็นศูนย์ ในทางปฎิบัติผู้เลี้ยงปลาต้องคุมแอมโมเนียให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในระบบเลี้ยงแบบปิด(ในตู้ในอ่าง ไม่ใช่แม่น้ำลำธาร) อาการเป็นพิษของแอมโมเนีย ปลาจะมีอาการทางเหงือกทำให้ไม่สามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เพียงพอ ในกระแสเลือดมีแอมโมเนียเพิ่มขึ้น เซลร่างกายถูกทำลาย อาการ เฉื่อย ว่ายน้ำแกว่ง ไม่กินอาหาร นอนก้น หายใจลำบาก เหงือกกางบวมแดง ลอยคอรวมกลุ่ม แถบแดงตามครีบหรือข้างลำตัว
       สำหรับปลา น้ำเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา และสัมผัสตลอดเวลา ในการเลี้ยงปลา เราส่วนใหญ่เลี้ยงในระบบปิด ความเข้าใจการเกิดและการกำจัดแอมโมเนียจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เราจะสามารถทำการควบคุมปริมาณแอมโมเนียให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อปลา และปลาสามารถอาศัยอยู่ได้ ทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้อย่างปรกติสุข การกำจัดแอมโมเนียในตู้ปลาทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำ การเป่าฟองอากาศ การใช้ระบบกรองชีวภาพ(bio filter) การย่อยสลายจากพืชน้ำ สาหร่ายเซลเดียว เป็นต้น


ระบบกรองชีวภาพ

   ระบบกรองชีวภาพ เป็นระบบกรองที่ทำการกรองและย่อยสลายแอมโมเนียในน้ำ โดยใช้จุลินทรีย์สองชนิด คือ Nitrosomonas Bacteria ย่อยแอมโมเนียเป็น ไนไตรท์(NO2) ซึ่งยังเป็นพิษต่อปลา และจุลินทรีย์ชนิดที่สองคือ Nitrobacter Bacteria  ทำการย่อย ไนไตรท์เป็น ไนเตรท(NO3) ซึ่งไม่เป็นพิษ แต่ทำให้น้ำเป็นกรดเมื่อมีปริมาณมากขึ้น จุลินทรีย์ทั้งสองชนิดนี้เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยบนพื้นผิววัสดุต่างๆในน้ำ ใช้ออกซิเจนช่วยในการย่อยสลายแอมโมเนีย ระบบนี้จึงควรมีพื้นผิวจำนวนมากเพื่อให้จุลินทรีย์อยู่อาศัย และมีออกซิเจนในน้ำสำหรับการทำงานของจุลินทรีย์ทั้งสองชนิด

 กรองฟองน้ำ
    กรองฟองน้ำเป็นกรองชีวภาพแบบง่ายๆขนาดเล็ก ประกอบด้วยฟองน้ำซึ่งมีรูพรุน รูพรุนของฟองน้ำทำให้มีพื้นที่ผิวจำนวนมาก อากาศจากเครื่องเป่าอากาศจะดันน้ำออกนอกตัวกรองทางท่อด้านบนโดยไม่ผ่านฟองน้ำ ทำให้เกิดแรงดูดน้ำด้านข้างผ่านฟองน้ำเข้าสู่ด้านในตัวกรอง น้ำที่มีแอมโมเนียจะผ่านผิวฟองน้ำ ถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายเป็นไนไตรท์ และไนไตรท์นี้เมื่อผ่านผิวที่มีจุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งจะถูกย่อยสลายเป็นไนเตรท
    กรองฟองน้ำที่เราซื้อมาใหม่จะยังไม่มีจุลินทรีย์ที่ว่านี้ อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อเลี้ยงหรือทำให้เกิดจุลินทรีย์ก่อนที่จะใช้ในการกรองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (เรียกการทำวัฏจักรไนโตรเจนในตู้ปลา Nitrogen Cycle)


ไบโอบอล (Bioball)
         ไบโอบอลคือลูกพลาสติกหรือวัสดุที่ออกแบบให้มีพื้นที่ผิวมากๆสำหรับให้จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายแอมโมเนียมาเกาะและเจริญเติบโตบนพื้นผิว ไบโอบอลจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องกรองโดยจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่น้ำที่สัมผัสกับอากาศหรือเติมอากาศแล้วไหลผ่าน แอมโมเนียในน้ำจะถูกย่อยสลายเมื่อผ่านจุลินทรีย์บนผิวไบโอบอล
         ตัวอย่างเครื่องกรองที่ใช้ไบโอบอลเช่นกรองข้างตู้ กรองมุมตู้ เครื่องกรองเหล่านี้จะติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อดันน้ำออกจากเครื่องกรองตรงส่วนล่างเข้าสู่บริเวณที่ปลาอาศัย น้ำที่ดันออกไปจะทำให้น้ำในตู้ล้นช่องด้านบนของเครื่องกรอง ไหลกลับเข้าสู่เครื่องกรองทางด้านบน ผ่านวัสดุกรอง เช่น เส้นใยสังเคราะห์ สำหรับกรองกากของเสียเศษอาหาร แล้วผ่านไบโอบอล ลงมายังปั๊มน้ำและถูกปั๊มน้ำดันออกสู่ภายนอกเครื่องกรองอีกครั้ง 


กรองใต้กรวด
       กรองชนิดนี้ประกอบด้วยตะแกรงวางบนพื้นตู้ กรวดซึ่งเกลี่ยทับบนตะแกรงอย่างสม่ำเสมอ ท่อหรือปล่องสำหรับเป่าอากาศเพื่อหมุนเวียนน้ำ ปลายท่อด้านล่างจะอยู่ด้านใต้ตะแกรง เมื่อเป่าอากาศจากปลายท่อด้านล่าง อากาศจะพาน้ำด้านใต้ตะแกรงให้ไหลผ่านขึ้นไปตามท่อไปออกที่ด้านบน ทำให้เกิดแรงดูดด้านใต้ตะแกรง น้ำในตู้จะถูกดูดผ่านกรวดลงสู่ใต้ตะแกรง ตะกอนของเสียต่างๆจะฝังตัวในกรวด แอมโมเนียจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนผิวก้อนกรวด



        ระบบกรองชีวภาพใช้จุลินทรีที่เติบโตบนพื้นผิววัสดุกรองภายในตู้ร่วมกับออกซิเจนในน้ำทำการย่อยสลายแอมโมเนีย วัสดุกรองทีกล่าวมาจึงเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น เราอาจใช้วัสดุอื่นๆที่มีพื้นผิวมากทดแทนวัสดุฟองน้ำ ก้อนกรวด หรือไบโอบอลได้ อันที่จริงแล้วแม้แต่ผนังตู้ทั้งห้าด้านต่างเป็นพื้นผิวสำหรับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี เพียงจุลินทรีย์บนผนังตู้บดบังทัศนียภาพของตู้ ถ้าเป็นการเลี้ยงภายในบ้านโดยจัดตู้ติดผนัง การทำความสะอาดตู้ให้ใสเพียงด้านที่เรามองดูปลาจะช่วยเพิ่มพื้นผิวได้อีกมาก

หมายเหตุ ระบบกรองที่ใช้ปั๊มน้ำ น้ำที่ผ่านปั๊มมีการไหลค่อนข้างแรง จึงไม่ค่อยเหมาะกับตู้ขนาดเล็ก ปลาจะเหนื่อยในการทวนน้ำ ไบโอบอล ก้อนกรวด วัสดุกรองต่างๆ เช่นเดียวกับกรองฟองน้ำ เริ่มแรกเมื่อซื้อมาใหม่ จะยังไม่มีสมบัติในการกำจัดแอมโมเนียได้ จนกว่าจะผ่านกระบวนการที่เรียก วัฏจักรไนโตรเจน แล้ว

การสร้างวัฏจักรไนโตรเจนในตู้ใหม่

    เมื่อเรามีความจำเป็นต้องขึ้นตู้ใหม่สำหรับเลี้ยงปลา ถ้าตู้ปลาและอุปกรณ์ต่างๆในตู้เป็นของใหม่ รวมทั้งน้ำซึ่งอาจเป็นน้ำประปาที่ได้พักกำจัดคลอรีนแล้ว ในระบบนี้ จะเห็นได้ว่าเรายังไม่มีกลไกการกำจัดแอมโมเนียในน้ำ เมื่อเรานำปลาลงปล่อยในน้ำ แม้มีการพยายามปรับสภาพน้ำให้ปลามีความคุ้นเคยกับน้ำอย่างช้าๆแล้วก็ตาม ปลาก็ยังพากันล้มตายในสองสัปดาห์แรก อาการตายของปลานี้เรียก กลุ่มอาการขึ้นตู้ใหม่ (new tank syndrome ) กลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นจาก ของเสียต่างๆในน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากอาหารและการขับถ่าย ทำให้ปริมาณแอมโมเนียเพิ่มขึ้น เชื้อโรคในน้ำเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันระบบกรองของตู้ก็กำลังสร้างจุลินทรีย์เพื่อช่วยย่อยสลายแอมโมเนียไปพร้อมกัน(แต่ยังไม่พร้อมเต็มที่) หากการจัดการตู้ไม่เหมาะสม ปลาก็จะเกิดโรค และเกิดอาการเป็นพิษจากแอมโมเนีย ทำให้ปลาตายจำนวนมาก
       การทำวัฏจักรไนโตรเจน (nitrogen cycle) เป็นการทำให้เกิดจุลินทรีย์ทั้งสองชนิดที่ทำหน้าที่ย่อยสลายแอมโมเนียจนเป็นไนเตรทในวัสดุกรอง ให้มีจำนวนมากสมดุลกับการเกิดแอมโมเนียในน้ำ เพื่อย่อยสลายแอมโมเนียดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น การเจริญเติบโตของกลุ่มจุลินทรีย์นี้ต้องอาศัยแอมโมเนียและอากาศในน้ำ การทำวัฏจักรไนโตรเจนจึงจำเป็นต้องมีแหล่งให้แอมโมเนียและให้อากาศในน้ำ ซึ่งอาจทำโดยไม่มีปลาในตู้ หรืออาจทำโดยการเลี้ยงปลาไปพร้อมกัน
      การทำวัฏจักรไนโตรเจนโดยไม่มีปลาในตู้ จะเดินระบบกรองเป่าลมในน้ำและให้แอมโมเนียในน้ำโดยแหล่งแอมโมเนียจะได้มาจากสารเคมี หรือเศษของเสียเช่นเศษเนื้อที่ทิ้งให้สลายเป็นแอมโมเนีย ซึ่งมักมีกลิ่นรบกวนจึงไม่นิยม ส่วนการใช้สารเคมีจะต้องวัดปริมาณแอมโมเนีย และคอยคุมให้คงที่ด้วยการเติม พร้อมกับวัดปริมาณไนเตรทที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงการเกิดจุลินทรีย์ทั้งสองชนิด
     การทำวัฏจักรไนโตรเจนแบบเลี้ยงปลาไปด้วยพร้อมกัน เมื่อเริ่มต้นระบบ ควรควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีกับแต่ละมื้อไม่ให้มีอาหารตกค้าง กรณีนี้จะต้องคอยสังเกตอาการของปลาและคอยถ่ายและเติมน้ำใหม่เพื่อคุมปริมาณแอมโมเนีย เช่นปลาเริ่มลอยหายใจผิวน้ำมากขึ้น ไม่ตื่นตัวหาอาหาร ว่ายน้ำแกว่ง ให้ถ่ายน้ำและเติมน้ำใหม่เพื่อลดความเข้มข้นแอมโมเนียในน้ำ งดอาหารบางมื้อและเพิ่มออกซิเจนในน้ำอาจใช้หัวทรายละเอียดสำหรับเป่าอากาศร่วมด้วย ซึ่งการเป่าอากาศสามารถช่วยลดแอมโมเนียได้เช่นกัน ทั้งนี้ในการเปลียนน้ำไม่ควรทำคราวละมากๆด้วยเหตุผลดังได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องน้ำ ถ้าระหว่างนี้มีปลาตัวใดมีอาการเน่าเปื่อย แกว่ง อาจเป็นได้จากพิษแอมโมเนียหรือจากเชื้อโรคในน้ำที่เจริญเติบโตจนก่อโรค ให้แยกปลาตัวนั้นออกพร้อมน้ำในตู้ส่วนหนึ่ง เติมน้ำสะอาดครึ่งหนึ่ง ใส่ยาแก้อักเสบทำการรักษา ถ้าอาการเกิดจากการติดเชื้อก็สามารถหายได้ ไม่ควรใส่ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะนี้ลงในตู้เพราะอาจทำลายจุลินทรีย์ที่เรากำลังเลี้ยงทำให้ระบบล่ม ต้องเริ่มกันใหม่  จำนวนปลาที่ใช้สำหรับการเริ่มต้นกับตู้ใหม่ไม่ควรมากเกินไปจะทำให้แอมโมเนียขึ้นสูงเร็วมากอาการเป็นพิษรุนแรงและคุมไม่ได้ สูญเสียปลาทั้งหมด
     หลังจากผ่านวัฏจักรไนโตรเจนแล้ว (ไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์) ปลาที่เหลืออยู่จะเริ่มมีกิจกรรมในน้ำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตื่นตัว วิ่งไล่กันตลอดเวลา ตอดหาอาหารตามผนัง ลงหาอาหารก้นตู้ เคลื่อนไหวรวดเร็ว ไม่มีอาการลอยคอว่ายน้ำอยู่กับที่ ถึงเวลา congratulation ครับ

การสร้างวัฏจักรไนโตรเจนจากตู้เก่า
     เมื่อได้ทำวัฏจักรไนโตรเจนกับตู้แรกแล้ว การทำตู้ใหม่ลำดับถัดไปจะสามารถทำได้เร็วขึ้น โดยใช้วัสดุตั้งต้นจากตู้เดิม เช่นเราอาจเตรียมกรองฟองน้ำอันใหม่ในตู้เก่าซึ่งเชื้อจะเจริญอย่างรวดเร็วแล้วย้ายกรองนั้นมาไว้ตู้ใหม่ หรือแบ่งวัสดุอื่นที่อยู่ในตู้เก่ามายังตู้ใหม่เช่น กรวด ไบโอบอล ตะกร้าลูกปลา เป็นต้น ส่วนวิธีการอื่นๆ คงเป็นเช่นเดียวกับการขึ้นตู้ใหม่ทั้งหมด

ไนเตรท

      เมื่อเราประสบความสำเร็จในการสร้างระบบให้เกิดจุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายแอมโมเนียได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ไนเตรท ซึ่งเป็นผลพวงจากการย่อยสลาย ถ้าเราเลี้ยงปลาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำจัดไนเตรท ออกไป น้ำจะเป็นกรดมากขึ้น เรื่อยๆ และสุดท้าย ระบบจุลินทรีย์ที่เราสร้างขึ้นก็จะชะงัก คุณภาพน้ำเริ่มไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของปลา
        ไนเตรทเป็นสารอาหารของพืชต่างๆ สาหร่าย พืชน้ำต่างๆ รวมถึงสาหร่ายเซลเดียว(น้ำเขียว)  สำหรับการเลี้ยงนอกอาคารในอ่างหรือในบ่อ พืชน้ำเหล่านี้สามารถกำจัดไนเตรทให้กับอ่างปลาได้ดี ส่วนการเลี้ยงปลาหางนกยูงในตู้ส่วนใหญ่ไม่นิยมใส่ไม้น้ำ(ทั้งนี้แล้วแต่ความชอบ) การกำจัดไนเตรทก็ทำได้ง่ายๆ โดยเปลี่ยนน้ำในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังที่เราเคยได้ยินคำแนะนำจากผู้เลี้ยงรุ่นก่อนที่มักบอกกับผู้เริ่มเลี้ยงปลา ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ทุกสัปดาห์บ้าง หรือทุกสามวันบ้าง การเปลียนน้ำสามารถคุมปริมาณไนเตรทให้อยู่ในระดับต่ำ สำหรับตู้ที่ผ่านวัฎจักรไนโตรเจนแล้ว ซึ่งผู้เลี้ยงอาจใช้โอกาสนี้ดูดเศษตะกอนต่างๆก้นตู้ทิ้งเป็นการทำความสะอาดไปพร้อมกัน


อาหาร 

      ปลาหางนกยูง สามารถจะกินสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ลอยอยู่ในน้ำทั้งพืชและสัตว์เล็กๆ เช่น สาหร่ายเซลเดียว zooplanktonไรแดง ลูกน้ำ ลูกไรทะเล ไปจนถึงอาหารสำเร็จที่ผลิตมาสำหรับปลาหางนกยูง เราอาจจำแนกอาหารสำหรับปลาหางนกยูง เป็นอาหารลูกปลา และอาหารปลาที่เริ่มโตแล้ว

อาหารลูกปลา
      อาหารสำหรับลูกปลาจะเป็นอาหารพวกแพลงตอนพืชและสัตว์ในน้ำ ไรแดง ลูกไรทะเลเกิดใหม่ ลูกปลาไม่สามารถกินอาหารอื่นๆที่ไม่ได้ออกแบบเฉพาะสำหรับลูกปลา แม้จะบดให้ละเอียดจนปลาสามารถกลีนกินได้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะระบบทางเดินอาหารของลูกปลาจะยังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถย่อยอาหารสำหรับปลาใหญ่ได้ 

อาหารปลาใหญ่
       เมื่อลูกปลาเริ่มโตขึ้น เราสามารถค่อยๆให้อาหารปลาใหญ่ โดยอาจเริ่มให้แต่น้อยก่อน เมื่อปลาเริ่มกินอาหารได้ดีแล้วจึงเพิ่มปริมาณอาหารปลาใหญ่ ปลาใหญ่จะสามารถกินอาหารเช่นเดียวกับลูกปลา และสามารถกินอาหารสำเร็จรูปอื่นๆได้อีกหลากหลาย ในการให้อาหารปลาใหญ่ ปลาจะสมบูรณ์ได้ ต้องมีอาหารสดประกอบด้วย อาหารสดได้แก่ ลูกไรทะเล ไรแดง ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น ส่วนอาหารสำเร็จจะมีทั้งแบบเม็ดและเป็นผงลอยน้ำ อาหารเม็ดที่มีขนาดใหญ่สามารถลอยน้ำและอ่อนตัว ปลาสามารถตอดกินได้ อาหารผงชนิดลอยผิวน้ำก็สามารถใช้ได้ดีเช่นกัน การให้อาหารอาจให้วันละสองมื้อ โดยต้องมีอาหารสดหนึ่งมื้อ
       การจัดหาอาหารปลาสำเร็จรูปควร เลือกซื้อจากบริษัทผลิตอาหารที่เชื่อถือได้ หรือจากผู้ผลิตอาหารที่เป็นที่เชื่อถือ มีตัวอย่างผู้ใช้เลี้ยงปลาว่าสามารถให้ผลผลิตปลาที่ดีแข็งแรง(อาจหาข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์)
      ข้อพึงระวังในการให้อาหารปลาคืออย่าให้มากจนเกินไป อาหารที่เหลือมากเกินไป ถ้าระบบเลี้ยงไม่สามารถรองรับย่อยสลายเศษอาหารเหล่านี้ จะทำให้น้ำเน่าเสีย เกิดการเจริญของเชื้อโรค เช่นหางกร่อน เกล็ดตั้ง ทำให้ปลาเจ็บป่วยและตายได้ การให้อาหารในปริมาณมากเพียงครั้งเดียวในแต่ละวันจะทำให้พุงปลาเต่งผิดรูปปลาไม่แข็งแรง รูปทรงปลาไม่สวยงาม ถ้าต้องการให้ปลาเติบโตไว มีรูปทรงที่ดี ควรให้อาหารแต่น้อย แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น


สายพันธุ์

         ปลาหางนกยูงที่ได้พัฒนาเป็นปลาสำหรับเลี้ยงเพื่อความสวยงาม มีมากมายหลายสายพันธุ์ ปลาสายพันธุ์หนึ่งๆ เป็นปลาที่ถูกคัดเลือก ผสมให้มีลักษณะเฉพาะทีเหมือนๆกัน ซึ่งเป็นลักษณะประจำสายพันธุ์นั้น ปลาที่ถูกคัดเลือกจนเรียกได้ว่าเป็นพันธุ์แท้(breed true)จะสามารถถ่ายทอดลักษณะไปยังลูกหลานโดยไม่แปรเปลี่ยนไปง่ายๆ  ปลาสายพันธุ์หนึ่งอาจเกิดจากการนำปลาต่างสายพันธุ์มาผสมกัน จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่

โมเสค (Mosaic)

      แต้มสีน้ำเงินขนาดใหญ่ทับบริเวณข้อโคนหาง กระจายออกสู่ใบหาง เป็นเส้นหนาทั่วใบหาง ลายเส้นมองดูคล้ายเงาวัตถุในน้ำที่กำลังกระเพื่อม คือลักษณะที่เราเรียกว่าโมเสค
       ลายเส้นบนใบหางของโมเสค อาจมีได้ตั้งแต่สีน้ำเงินจางๆ น้ำเงินเข้มไปจนถึงดำขึ้นอยู่กับความหนาแน่นเซลเม็ดสีดำของสายพันธุ์นั้นๆ สีของโมเสคจะเรียกตามสีของใบหางเช่นลวดลายโมเสคบนหางแดงเรียก เรดโมเสค ลวดลายบนหางสีฟ้าเรียกบลูโมเสค และบนหางสีขาวครีม(สีงา)เรียก ไอวอรีโมเสค(ivory mosaic)เป็นต้น
      ลักษณะโมเสคเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานแบบเชื่อมโยงทางเพศ โดยโมเสคสามารถถ่ายทอดได้ทั้งแบบผ่านทางเพศผู้ และผ่านทางเพศเมีย  http://aboutguppy.blogspot.com/2013/10/genetics.html

ภาพเรดโมเสค(red mosaic)


ตัวเมียบลูโมเสค



มอสโคว (Moscow

           มอสโคว เป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะประจำสายพันธุ์คือ ส่วนหัวของปลาลงมาถึงบริเวณท้องมีลักษณะคล้ายเคลือบโลหะที่มีประกายน้ำเงิน (metal head) ลักษณะนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานทางตัวผู้ หรือทางพ่อเท่านั้น ในปัจจุบันเมื่อพูดถึงมอสโควจะหมายถีงปลาที่มีส่วนหัวเป็นเคลือบโลหะและมีสีทึบตลอดทั้งตัว(ไม่มีลวดลาย solid color) มอสโควบางตัวจะมีสึของลำตัวกลมกลีนกับเคลือบโลหะที่ส่วนหัว ลักษณะของลำตัวมอสโควตั้งแต่ตรงส่วนท้องลงไปถึงหางที่เป็นสีทึบ เป็นลักษณะที่ถ่ายทอดผ่านทางตัวเมียไปยังลูกหลานได้ เรียก MBAG (Moscow Blue Additional Gene)เราสามารถเห็น MBAG ชัดเจนในลูกปลาตัวผู้ เมื่อนำปลามอสโควตัวเมียไปผสมกับตัวผู้สายพันธ์อื่นที่ไม่มีเคลือบเงาวาวตรงส่วนหัว
         มอสโควมีสีต่างๆกันหลายสี เช่น น้ำเงิน เขียว ม่วง แดง และดำ(full black) รูปด้านใต้นี้เป็นรูปมอสโควที่เป็นสีทึบ มีเคลือบโลหะที่ส่วนหัวกลมกลืนกับลำตัว ลักษณะแบบนี้บางคนเรียก full metal ส่วนผมจะเรียกตามสีของปลา

ภาพ มอสโควตัวผู้ ตัวนี้ผมเรียกว่า Black blue green moscow.



ส่วนภาพถัดไปนี้ เป็นอีกตัวที่สีอ่อนกว่า ไม่เห็นลายเกล็ดบนลำตัว แต่ก็เป็นมอสโควเช่นกัน ตัวนี้จะสามารถถอดสีได้ในบางสภาพแวดล้อม  ตัวนี้เรียก grey blue green moscow

ตัวเมียมอสโคว 


สำหรับมอสโควที่กำลังเป็นที่นิยมกันมากในขณะนี้ คือ ฟูลแบล็ค หรือ Black black moscow. เป็นมอสโควที่มีสีดำทั้งตัว ฟูลแบลคจะมีทั้งที่เป็นดำเงาแบบโลหะ และ ดำด้านทั้งตัว ในแบบแรกจะพบเห็นได้น้อยกว่า ส่วนใหญ่ที่เลี้ยงกันทั่วไปจะเป็นแบบที่สองคือดำด้าน

รูปภาพ metallic full black.


รูปภาพ full black


รูปภาพ ตัวเมีย columbia full black.


MBAG มีลักษณะคล้ายทักสิโด แต่ไม่ใช่ ทักสิโด สีของ MBAG เริ่มตั้งแต่บริเวณท้องไปจนถึงหาง โดยจะเลยข้อหางเข้าไปในเนื้อหาง ส่วนใหญ่ที่พบจะไม่เต็มใบหาง ผู้ที่พูดถึง MBAG (Moscow Blue Additional Gene) ครั้งแรกคือ Ramona Osche 

รูป MBAG บนปลาหางนกยูง






         มอสโควเป็นปลา ที่มีลักษณะตัวใหญ่ แข็งแรง ครีบสวยงาม ตัวผู้สามารถถ่ายทอดเคลือบโลหะส่วนหัว ทำให้มีการนำมอสโควไปข้ามกับปลาสายพันธ์ุอื่นๆ ทำให้เกิดปลาที่มีหัวเป็นเมทัล เช่น เมทัลคิงคอบบรา เมทัลเรดเลซ และอื่นๆ การผสมข้ามกับปลาแต่ละสายพันธุ์ มักให้ลักษณะที่แตกต่างกัน สร้างความเพลิดเพลินในการเลี้ยงปลาหางนกยูง ให้กับผู้เพาะเลี้ยง

 ผิวงู หรือ เสนคสกิน (Snakeskin)

      เสนคสกิน คือปลาหางนกยูงที่มีผิวเป็นลายคล้ายผิวงู ลวดลายผิวงูอาจมีเฉพาะบนส่วนลำตัว หาง หรือทั้งลำตัวและหาง เสนคสกินเป็นลักษณะที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางตัวผู้(Y-linked )หรือตัวเมียก็ได้ (X-linked )

Yellow lace (เยลโลเลซ)
      เยลโลเลซเป็นเสนคสกินแบบหนึ่ง ตัวผู้มีผิวลำตัวและหางเป็นลายผิวงูที่มีความละเอียด สีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว ตัวเมียลำตัวค่อนข้างใสไม่มีลาย ส่วนหางหรือกระโดง อาจใสหรือมีลายเล็กน้อย หรือไม่มีลาย ตัวเมียที่มีลายบนหางสามารถถ่ายทอดลักษณะผิวงูไปยังลูกได้ ในรูปด้านใต้นี้เป็น เยลโลเลซทีตัวผู้มีลายขึ้นมาถึงส่วนหน้าของปลา ซึ่งเราอาจเรียกชื่อเพิ่มเติมว่า คิงคอบรา เยลโลเลซ 



     
เรดเลซ (Red lace)
       Red lace (เรดเลซ)เป็น เสนกสกินหรือผิวงู ตัวผู้มีลวดลายผิวงูแบบเต็มตัว หางและกระโดงมีลายที่ละเอียด สีของหางและกระโดงเป็นสีแดง บางตัวหางอาจเป็นแดงอมเหลือง หรือออกเป็นสีส้ม ทำให้มีการตั้งชื่อเรียกแยกออกมาเป็น orange lace (ออเรนจ์เลซ) ตัวเมียอาจมีลายหรือไม่มีลายก็ได้ มีครีบกระโดงขาวถึงแดง และครีบหางแดง สีแดงบนครีบของเรดเลซตัวเมีย จะเป็นแดงโปร่งแสงคือมองทะลุได้ ซึ่งต่างจากสีแดงของปลาแดงอื่นๆที่เป็นแดงทึบ ตัวเมียที่มีลายที่หางจะเป็นตัวเมียที่ถ่ายทอดลักษณะของผิวงูได้ด้วย 

รูป เรดเลซ



เรดเลซตัวผู้

เรดเลซตัวเมีย


คอบรา (Cobra)
              เสนกสกินบนลำตัวและหาง เมื่ออยูร่วมกับลักษณะทางสายพันธ์อื่นๆ เช่น โมเสค หางแดงทึบ ทักสิโด(ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง) จะทำให้เกิดลวดลายเสนกสกินที่แตกต่างกันออกไป 
              คอบราเป็นเสนกสกินแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากเสนกสกินบนลำตัวอยู่ร่วมกับลักษณะอื่น ทำให้ลวดลายบนลำตัวเป็นแถบในแนวตั้ง

รูป เรดเสนกสกินโมเสค หรือ เรดคอบราโมเสค



เรดคอบรา



Yellow Cobra


ทักซิโดหรือฮาล์ฟแบล็ค (Tuxedo, Half black)

      ทักซิโดหรือฮาล์ฟแบล็ค คือลักษณะที่ลำตัวเป็นสีดำ ดำอมน้ำเงิน หรืออมเขียว จากบริเวณถัดจากท้องไปจนถึงข้อหาง ลักษณะนี้มองดูเหมือนคนสวมเสื้อชุดราตรีรัดรูปที่เรียกว่าทักซิโ็ด เลยมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าทักซิโด
        ทักซิโดถือกำเนิดในเยอรมัน และมีการนำเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ประมาณปี คศ 1960 ส่วนในไทยผมเริ่มเห็นปลาหางนกยูงที่มีข้อลำตัวแบบทักซิโด เมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว ขณะนั้นในบ้านเราเรียกกันว่าเยอรมัน ซึ่งปลาเยอรมันในสมัยนั้นมีลำตัวเป็นทักซิโดสีดำ ลำตัวหนา หางสีเขียว น้ำเงิน และแดง ลักษณะหางและครีบไม่กางเหมือนปลาในปัจจุบัน หลังและครีบหูเป็นประกายสีเงิน แลดูสวยงามมากเมื่อมองจากด้านบน  เมื่อเทียบกับปลาหางนกยูงในปัจจุบัน จะมีลักษณะคล้ายคลีงกับนีออนทักซิโดมาก
     สายพันธุ์ทักสิโดในปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีครีบหางกระโดงชนาดใหญ่สวยงาม มีสีต่างๆกัน โดยสีหางและกระโดงนิยมที่จะคัดเลือกเพาะเลี้ยงให้มีสีหรือลายไปในทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามพบว่าปลาในกลุ่มนี้ มักจะมีกระโดงและครีบใต้ท้องออกไปในทางขาวรวมทั้งมีเคลือบเป็นประกายบนส่วนหลัง การเรียกชื่อของทักซิโดก็จะเรียกตามสีของหางและกระโดง เช่น 
-          เยอรมันเยลโลทักซิโด คือทักซิโดที่มีหางและครีบกระโดงเป็นสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ข้อลำตัวเป็นสีดำ
-          เรดทักซิโด คือทักซิโดที่มีหางและกระโดงเป็นสีแดง
-          บลูทักซิโด(blue tuxedo) ทักซิโดบลูเทล(tuxedo blue tail) มีหางและกระโดงสีน้ำเงิน
-          บลูนีออนทักซิโด(blue neon tuxedo) ทักซีโดที่มีหางและกระโดงสีน้ำเงิน เคลือบเป็นประกายด้านบน ตั้งแต่ส่วนหัว ครีบหู ไปจนถึงหาง เหล่านี้เป็นตัน

รูปเยลโลทักซิโดตัวผู้

รูปเยลโลทักซิโดตัวเมีย


รูปบลูนีออนทักซิโด


 ทักซิโดเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานแบบเชื่อมโยงทางเพศ สามารถมีได้ทั้งแบบถ่ายทอดทางเพศผู้และเพศเมีย (ดูเรื่องพันธุกรรม) ลักษณะของข้อทักซิโดสามารถปรากฎได้ทั้งบนตัวผู้และตัวเมีย โดยบนตัวเมียมักจะมีสีอ่อนกว่า ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ทักซิโดนิยมคัดตัวเมียที่มีข้อทักซิโดสีเข้มลำตัวใหญ่หนา แข็งแรง เพื่อให้ได้ลูกที่มีข้อทักซิโดที่เด่นชัดและแข็งแรง ส่วนการคัดเลือกพ่อพันธุ์จะให้ความสำคัญกับสีของใบหางและกระโดง  อย่างไรก็ตามการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าต้องเป็นเช่นนี้ บางครั้งเราต้องการนำลักษณะบางอย่างจากตัวเมียสายพันธุ์อื่นเข้ามาในทักซิโดของเรา ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องใช้ลักษณะทักซิโดที่ถ่ายทอดผ่านทางตัวผู้เป็นสำคัญ



อเมริกันพิงค์ไวท์ (American pink white)
         
            อเมริกันพิงค์ไวท์เป็นลักษณะที่ปรากฎบนเพศผู้ เป็นลักษณะถ่ายทอดทางเพศผู้อีกแบบหนึ่ง ปลาอเมริกันพิงค์ไวท์จะมีลักษณะเป็นข้อขาว ขาวอมชมพู หรือขาวเหลือบชมพู โดยจะเริ่มจากบริเวณหนึ่งในสี่ของลำตัวไปตลอดกระโดงและใบหาง และสามารถมีเส้นสีดำแซมตามกระโดงและใบหางได้ด้วย สีดำที่ตัดกับสีขาวทำให้ดูโดดเด่นมากเมื่อเลี้ยงไว้ในตู้ร่่วมกับปลาสายพันธุ์อื่น ข้อของอเมริกันพิงค์ไวท์จะเป็นลักษณะถ่ายทอดที่แข็งแรงมาก กล่าวคือมักปรากฎชัดเจนในลูกชายเมื่อนำตัวผู้ไปข้ามกับตัวเมียสายพันธุ์อื่นๆ

รูปอเมริกันพิงค์ไวท์เพศผู้




อเมริกันพิงค์ไวท์เพศผู้ 

อเมริกันพิงค์ไวท์หางเหลือบชมพู และเพศเมียทางด้านขวาของภาพ


แจแปนบลู (Japan Blue)
       แจแปนบลู เริ่มแรกพบเป็นปลาป่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในญึ่ปุ่น ลักษณะที่บ่งบอกสายพันธุ์คือตัวผู้มีสีฟ้าเป็นประกายโลหะครึ่งลำตัวคล้ายทักสิโด หรือทักสิโดสีฟ้านั่นเอง ส่วนตัวเมียแจแปนบลูที่เป็นปลาป่าจะเป็นเหมือนปลาป่าโดยทั่วไปคือครีบและหางใส



โดยทั่วไปแล้วแจแปนบลูมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมผ่านทางเพศผู้หรือหรือจากพ่อสู่ลูกที่เป็นตัวผู้ ในปัจจุบันมีผู้พบว่าแจแปนบลูสามารถถ่ายทอดผ่านทางเพศเมียได้ด้วยเช่นกัน
        การปรับปรุงพันธุ์แจแปนบลูให้มีลักษณะต่างๆกัน เช่น ติดหางดาบล่าง(lower sword) หรือหางดาบคู่(double sword) สามารถทำได้โดยนำปลาป่าแจแปนบลูตัวผู้ที่มีหางกลมไปผสมกับปลาป่าตัวเมียหางดาบสายพันธุ์อื่นๆ หรือการทำให้มีครีบและหางรูปทรงอื่นสามารถทำได้โดยนำแจแปนบลูตัวผู้ผสมกับตัวเมียที่มีลักษณะที่ต้องการ ทำให้เราพบเห็นแจแปนบลูในแบบต่างๆมากมาย แต่ทุกสายพันธุ์ยังคงลักษณะสำคัญคือลำตัวสีฟ้าที่เป็นประกายเหมือนโลหะ





ลาซูลี (Lazuli)

    ในปี คศ.1999 Taketoshi Sue ได้พบปลาแจแปนบลู ที่มีสีฟ้าในส่วนหน้าของลำตัว เขาเรียกแจแปนบลูที่มีสีฟ้าตรงส่วนหน้านี้ว่า ลาซูลิ ซึ่งเป็นชื่อของอัญมณีสีฟ้าชนิดหนึ่ง เขาได้อธิบายไว้ว่า ลาซูลิ ประกอบด้วย สีฟ้าสองส่วนคือ แจแปนบลู และอีกส่วนคือสีฟ้าตรงส่วนหน้าที่เพิ่มเข้ามา โดยส่วนของสีฟ้าที่เพิ่มเข้ามานี้เป็นลักษณะถ่ายทอดทางเพศผู้เช่นเดียวกับแจแปนบลู ซึ่งต่อมาได้ปรากฎลาซูลิแบบต่างๆอีกหลายสายพันธุ์ โดยลาซูลิใช้เป็นชื่อเรียกปลาที่มีส่วนหน้าของลำตัวเป็นสีฟ้า




แพลตินัม (Schimmelpfennig Platinum)
            
           แพลตินัม เป็นลักษณะของเคลือบอีกแบบหนึ่งคล้ายโลหะเป็นมันวาวบริเวณส่วนหน้าของลำตัว ตั้งแต่บริเวณข้างแก้มไล่มาถึงกลางลำตัว โดยตำแหน่งที่เข้มและเด่นชัดที่สุดจะเป็นบริเวณส่วนที่อยู่เหนือครีบหู ซึ่งโดยปรกติจะเป็นสีทอง และเห็นได้ชัดเจนมากในปลาป่า แพลตินัมเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานผ่านทางเพศผู้ ความสวยงามสะดุดตาของแพลตินัมทำให้มีความนิยมในการนำลักษณะนี้มาติดในปลาสายพันธุ์ต่่างๆจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความมันวาวในส่วนหน้าของลำตัวปลา ในปัจจุบันพบว่ามีปลาหลายสายพันธุ์ที่มีลักษณะแพลตินัมติดมาด้วย บางสายพันธุ์ยังคงสีเหลืองทองชัดเจน ขณะที่บางสายพันธุ์อาจมีสีเปลี่ยนไปจากอิทธิพลของสีดั้งเดิมของปลาที่นำมาติดแพลตินัมเข้าไป เช่น ขาว เทา หรือน้ำเงินแต่ส่วนใหญ่ยังคงลักษณะมันวาวเหมือนโลหะให้เราสังเกตเห็นได้ ปลาที่พบว่ามีการเพิ่มลักษณะแพลตินัมเข้าไปบนตัวปลาที่เรารู้จักกันดี เช่น ฟูลแพลตินัม ฟูลโกลด์(โดยเฉพาะตัวที่มีชื่อเรียกว่าเอลโดราโด) นีออนทักสิโด และแพลตินัมโมเสค เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีอื่นๆอีกมากมายสุดแต่จินตนาการจะสร้างสรรค์ ตัวอย่างดังในรูป

ตัวอย่างภาพแรกนี้เป็นปลาที่เกิดจากผมใช้แพลตินัมไตรรงค์ที่ผมมีอยู่ผสมกับปลาป่าตัวเมีย โดยคาดหวังว่าจะออกมาเป็นปลาที่มีแพลตินัมในแบบย้อนกลับไปหาปลาป่า ซึ่งก็ได้ผลอย่างในภาพ 



ต้วอย่างภาพที่สอง เป็นปลาแพลตินัมที่มีส่วนหางเป็นสีแดง สีแดงมาจากแม่ที่เป็นฟูลเรด



ตัวอย่างภาพที่สาม ตัวนี้เป็นตัวทีทำให้ผมปลาดใจคือ แพลตินัมแจแปนบลู ซึ่งปรกติแล้วมันจะไม่เกิดแบบนี้เพราะทั้งแจแปนบลูและแพลตินัมต่างก็เป็นลักษณะถ่ายทอดทางเพศผู้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นไปได้ว่า มีแจแปนบลูตัวเมียบางตัวที่สามารถถ่ายทอดลักษณะแจแปนบลูได้ด้วย


อีกสักตัวอย่าง รูปนี้เป็นปลาทีเห็นบ่อยๆที่ตลาดนัด ถือว่าเป็นปลาจำนวนยอดนิยมตัวหนึ่ง แพลตินัมทักสิโดโมเสค