วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สายพันธุ์

         ปลาหางนกยูงที่ได้พัฒนาเป็นปลาสำหรับเลี้ยงเพื่อความสวยงาม มีมากมายหลายสายพันธุ์ ปลาสายพันธุ์หนึ่งๆ เป็นปลาที่ถูกคัดเลือก ผสมให้มีลักษณะเฉพาะทีเหมือนๆกัน ซึ่งเป็นลักษณะประจำสายพันธุ์นั้น ปลาที่ถูกคัดเลือกจนเรียกได้ว่าเป็นพันธุ์แท้(breed true)จะสามารถถ่ายทอดลักษณะไปยังลูกหลานโดยไม่แปรเปลี่ยนไปง่ายๆ  ปลาสายพันธุ์หนึ่งอาจเกิดจากการนำปลาต่างสายพันธุ์มาผสมกัน จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่

โมเสค (Mosaic)

      แต้มสีน้ำเงินขนาดใหญ่ทับบริเวณข้อโคนหาง กระจายออกสู่ใบหาง เป็นเส้นหนาทั่วใบหาง ลายเส้นมองดูคล้ายเงาวัตถุในน้ำที่กำลังกระเพื่อม คือลักษณะที่เราเรียกว่าโมเสค
       ลายเส้นบนใบหางของโมเสค อาจมีได้ตั้งแต่สีน้ำเงินจางๆ น้ำเงินเข้มไปจนถึงดำขึ้นอยู่กับความหนาแน่นเซลเม็ดสีดำของสายพันธุ์นั้นๆ สีของโมเสคจะเรียกตามสีของใบหางเช่นลวดลายโมเสคบนหางแดงเรียก เรดโมเสค ลวดลายบนหางสีฟ้าเรียกบลูโมเสค และบนหางสีขาวครีม(สีงา)เรียก ไอวอรีโมเสค(ivory mosaic)เป็นต้น
      ลักษณะโมเสคเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานแบบเชื่อมโยงทางเพศ โดยโมเสคสามารถถ่ายทอดได้ทั้งแบบผ่านทางเพศผู้ และผ่านทางเพศเมีย  http://aboutguppy.blogspot.com/2013/10/genetics.html

ภาพเรดโมเสค(red mosaic)


ตัวเมียบลูโมเสค



มอสโคว (Moscow

           มอสโคว เป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะประจำสายพันธุ์คือ ส่วนหัวของปลาลงมาถึงบริเวณท้องมีลักษณะคล้ายเคลือบโลหะที่มีประกายน้ำเงิน (metal head) ลักษณะนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานทางตัวผู้ หรือทางพ่อเท่านั้น ในปัจจุบันเมื่อพูดถึงมอสโควจะหมายถีงปลาที่มีส่วนหัวเป็นเคลือบโลหะและมีสีทึบตลอดทั้งตัว(ไม่มีลวดลาย solid color) มอสโควบางตัวจะมีสึของลำตัวกลมกลีนกับเคลือบโลหะที่ส่วนหัว ลักษณะของลำตัวมอสโควตั้งแต่ตรงส่วนท้องลงไปถึงหางที่เป็นสีทึบ เป็นลักษณะที่ถ่ายทอดผ่านทางตัวเมียไปยังลูกหลานได้ เรียก MBAG (Moscow Blue Additional Gene)เราสามารถเห็น MBAG ชัดเจนในลูกปลาตัวผู้ เมื่อนำปลามอสโควตัวเมียไปผสมกับตัวผู้สายพันธ์อื่นที่ไม่มีเคลือบเงาวาวตรงส่วนหัว
         มอสโควมีสีต่างๆกันหลายสี เช่น น้ำเงิน เขียว ม่วง แดง และดำ(full black) รูปด้านใต้นี้เป็นรูปมอสโควที่เป็นสีทึบ มีเคลือบโลหะที่ส่วนหัวกลมกลืนกับลำตัว ลักษณะแบบนี้บางคนเรียก full metal ส่วนผมจะเรียกตามสีของปลา

ภาพ มอสโควตัวผู้ ตัวนี้ผมเรียกว่า Black blue green moscow.



ส่วนภาพถัดไปนี้ เป็นอีกตัวที่สีอ่อนกว่า ไม่เห็นลายเกล็ดบนลำตัว แต่ก็เป็นมอสโควเช่นกัน ตัวนี้จะสามารถถอดสีได้ในบางสภาพแวดล้อม  ตัวนี้เรียก grey blue green moscow

ตัวเมียมอสโคว 


สำหรับมอสโควที่กำลังเป็นที่นิยมกันมากในขณะนี้ คือ ฟูลแบล็ค หรือ Black black moscow. เป็นมอสโควที่มีสีดำทั้งตัว ฟูลแบลคจะมีทั้งที่เป็นดำเงาแบบโลหะ และ ดำด้านทั้งตัว ในแบบแรกจะพบเห็นได้น้อยกว่า ส่วนใหญ่ที่เลี้ยงกันทั่วไปจะเป็นแบบที่สองคือดำด้าน

รูปภาพ metallic full black.


รูปภาพ full black


รูปภาพ ตัวเมีย columbia full black.


MBAG มีลักษณะคล้ายทักสิโด แต่ไม่ใช่ ทักสิโด สีของ MBAG เริ่มตั้งแต่บริเวณท้องไปจนถึงหาง โดยจะเลยข้อหางเข้าไปในเนื้อหาง ส่วนใหญ่ที่พบจะไม่เต็มใบหาง ผู้ที่พูดถึง MBAG (Moscow Blue Additional Gene) ครั้งแรกคือ Ramona Osche 

รูป MBAG บนปลาหางนกยูง






         มอสโควเป็นปลา ที่มีลักษณะตัวใหญ่ แข็งแรง ครีบสวยงาม ตัวผู้สามารถถ่ายทอดเคลือบโลหะส่วนหัว ทำให้มีการนำมอสโควไปข้ามกับปลาสายพันธ์ุอื่นๆ ทำให้เกิดปลาที่มีหัวเป็นเมทัล เช่น เมทัลคิงคอบบรา เมทัลเรดเลซ และอื่นๆ การผสมข้ามกับปลาแต่ละสายพันธุ์ มักให้ลักษณะที่แตกต่างกัน สร้างความเพลิดเพลินในการเลี้ยงปลาหางนกยูง ให้กับผู้เพาะเลี้ยง

 ผิวงู หรือ เสนคสกิน (Snakeskin)

      เสนคสกิน คือปลาหางนกยูงที่มีผิวเป็นลายคล้ายผิวงู ลวดลายผิวงูอาจมีเฉพาะบนส่วนลำตัว หาง หรือทั้งลำตัวและหาง เสนคสกินเป็นลักษณะที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางตัวผู้(Y-linked )หรือตัวเมียก็ได้ (X-linked )

Yellow lace (เยลโลเลซ)
      เยลโลเลซเป็นเสนคสกินแบบหนึ่ง ตัวผู้มีผิวลำตัวและหางเป็นลายผิวงูที่มีความละเอียด สีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว ตัวเมียลำตัวค่อนข้างใสไม่มีลาย ส่วนหางหรือกระโดง อาจใสหรือมีลายเล็กน้อย หรือไม่มีลาย ตัวเมียที่มีลายบนหางสามารถถ่ายทอดลักษณะผิวงูไปยังลูกได้ ในรูปด้านใต้นี้เป็น เยลโลเลซทีตัวผู้มีลายขึ้นมาถึงส่วนหน้าของปลา ซึ่งเราอาจเรียกชื่อเพิ่มเติมว่า คิงคอบรา เยลโลเลซ 



     
เรดเลซ (Red lace)
       Red lace (เรดเลซ)เป็น เสนกสกินหรือผิวงู ตัวผู้มีลวดลายผิวงูแบบเต็มตัว หางและกระโดงมีลายที่ละเอียด สีของหางและกระโดงเป็นสีแดง บางตัวหางอาจเป็นแดงอมเหลือง หรือออกเป็นสีส้ม ทำให้มีการตั้งชื่อเรียกแยกออกมาเป็น orange lace (ออเรนจ์เลซ) ตัวเมียอาจมีลายหรือไม่มีลายก็ได้ มีครีบกระโดงขาวถึงแดง และครีบหางแดง สีแดงบนครีบของเรดเลซตัวเมีย จะเป็นแดงโปร่งแสงคือมองทะลุได้ ซึ่งต่างจากสีแดงของปลาแดงอื่นๆที่เป็นแดงทึบ ตัวเมียที่มีลายที่หางจะเป็นตัวเมียที่ถ่ายทอดลักษณะของผิวงูได้ด้วย 

รูป เรดเลซ



เรดเลซตัวผู้

เรดเลซตัวเมีย


คอบรา (Cobra)
              เสนกสกินบนลำตัวและหาง เมื่ออยูร่วมกับลักษณะทางสายพันธ์อื่นๆ เช่น โมเสค หางแดงทึบ ทักสิโด(ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง) จะทำให้เกิดลวดลายเสนกสกินที่แตกต่างกันออกไป 
              คอบราเป็นเสนกสกินแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากเสนกสกินบนลำตัวอยู่ร่วมกับลักษณะอื่น ทำให้ลวดลายบนลำตัวเป็นแถบในแนวตั้ง

รูป เรดเสนกสกินโมเสค หรือ เรดคอบราโมเสค



เรดคอบรา



Yellow Cobra


ทักซิโดหรือฮาล์ฟแบล็ค (Tuxedo, Half black)

      ทักซิโดหรือฮาล์ฟแบล็ค คือลักษณะที่ลำตัวเป็นสีดำ ดำอมน้ำเงิน หรืออมเขียว จากบริเวณถัดจากท้องไปจนถึงข้อหาง ลักษณะนี้มองดูเหมือนคนสวมเสื้อชุดราตรีรัดรูปที่เรียกว่าทักซิโ็ด เลยมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าทักซิโด
        ทักซิโดถือกำเนิดในเยอรมัน และมีการนำเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ประมาณปี คศ 1960 ส่วนในไทยผมเริ่มเห็นปลาหางนกยูงที่มีข้อลำตัวแบบทักซิโด เมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว ขณะนั้นในบ้านเราเรียกกันว่าเยอรมัน ซึ่งปลาเยอรมันในสมัยนั้นมีลำตัวเป็นทักซิโดสีดำ ลำตัวหนา หางสีเขียว น้ำเงิน และแดง ลักษณะหางและครีบไม่กางเหมือนปลาในปัจจุบัน หลังและครีบหูเป็นประกายสีเงิน แลดูสวยงามมากเมื่อมองจากด้านบน  เมื่อเทียบกับปลาหางนกยูงในปัจจุบัน จะมีลักษณะคล้ายคลีงกับนีออนทักซิโดมาก
     สายพันธุ์ทักสิโดในปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีครีบหางกระโดงชนาดใหญ่สวยงาม มีสีต่างๆกัน โดยสีหางและกระโดงนิยมที่จะคัดเลือกเพาะเลี้ยงให้มีสีหรือลายไปในทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามพบว่าปลาในกลุ่มนี้ มักจะมีกระโดงและครีบใต้ท้องออกไปในทางขาวรวมทั้งมีเคลือบเป็นประกายบนส่วนหลัง การเรียกชื่อของทักซิโดก็จะเรียกตามสีของหางและกระโดง เช่น 
-          เยอรมันเยลโลทักซิโด คือทักซิโดที่มีหางและครีบกระโดงเป็นสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ข้อลำตัวเป็นสีดำ
-          เรดทักซิโด คือทักซิโดที่มีหางและกระโดงเป็นสีแดง
-          บลูทักซิโด(blue tuxedo) ทักซิโดบลูเทล(tuxedo blue tail) มีหางและกระโดงสีน้ำเงิน
-          บลูนีออนทักซิโด(blue neon tuxedo) ทักซีโดที่มีหางและกระโดงสีน้ำเงิน เคลือบเป็นประกายด้านบน ตั้งแต่ส่วนหัว ครีบหู ไปจนถึงหาง เหล่านี้เป็นตัน

รูปเยลโลทักซิโดตัวผู้

รูปเยลโลทักซิโดตัวเมีย


รูปบลูนีออนทักซิโด


 ทักซิโดเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานแบบเชื่อมโยงทางเพศ สามารถมีได้ทั้งแบบถ่ายทอดทางเพศผู้และเพศเมีย (ดูเรื่องพันธุกรรม) ลักษณะของข้อทักซิโดสามารถปรากฎได้ทั้งบนตัวผู้และตัวเมีย โดยบนตัวเมียมักจะมีสีอ่อนกว่า ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ทักซิโดนิยมคัดตัวเมียที่มีข้อทักซิโดสีเข้มลำตัวใหญ่หนา แข็งแรง เพื่อให้ได้ลูกที่มีข้อทักซิโดที่เด่นชัดและแข็งแรง ส่วนการคัดเลือกพ่อพันธุ์จะให้ความสำคัญกับสีของใบหางและกระโดง  อย่างไรก็ตามการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าต้องเป็นเช่นนี้ บางครั้งเราต้องการนำลักษณะบางอย่างจากตัวเมียสายพันธุ์อื่นเข้ามาในทักซิโดของเรา ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องใช้ลักษณะทักซิโดที่ถ่ายทอดผ่านทางตัวผู้เป็นสำคัญ



อเมริกันพิงค์ไวท์ (American pink white)
         
            อเมริกันพิงค์ไวท์เป็นลักษณะที่ปรากฎบนเพศผู้ เป็นลักษณะถ่ายทอดทางเพศผู้อีกแบบหนึ่ง ปลาอเมริกันพิงค์ไวท์จะมีลักษณะเป็นข้อขาว ขาวอมชมพู หรือขาวเหลือบชมพู โดยจะเริ่มจากบริเวณหนึ่งในสี่ของลำตัวไปตลอดกระโดงและใบหาง และสามารถมีเส้นสีดำแซมตามกระโดงและใบหางได้ด้วย สีดำที่ตัดกับสีขาวทำให้ดูโดดเด่นมากเมื่อเลี้ยงไว้ในตู้ร่่วมกับปลาสายพันธุ์อื่น ข้อของอเมริกันพิงค์ไวท์จะเป็นลักษณะถ่ายทอดที่แข็งแรงมาก กล่าวคือมักปรากฎชัดเจนในลูกชายเมื่อนำตัวผู้ไปข้ามกับตัวเมียสายพันธุ์อื่นๆ

รูปอเมริกันพิงค์ไวท์เพศผู้




อเมริกันพิงค์ไวท์เพศผู้ 

อเมริกันพิงค์ไวท์หางเหลือบชมพู และเพศเมียทางด้านขวาของภาพ


แจแปนบลู (Japan Blue)
       แจแปนบลู เริ่มแรกพบเป็นปลาป่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในญึ่ปุ่น ลักษณะที่บ่งบอกสายพันธุ์คือตัวผู้มีสีฟ้าเป็นประกายโลหะครึ่งลำตัวคล้ายทักสิโด หรือทักสิโดสีฟ้านั่นเอง ส่วนตัวเมียแจแปนบลูที่เป็นปลาป่าจะเป็นเหมือนปลาป่าโดยทั่วไปคือครีบและหางใส



โดยทั่วไปแล้วแจแปนบลูมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมผ่านทางเพศผู้หรือหรือจากพ่อสู่ลูกที่เป็นตัวผู้ ในปัจจุบันมีผู้พบว่าแจแปนบลูสามารถถ่ายทอดผ่านทางเพศเมียได้ด้วยเช่นกัน
        การปรับปรุงพันธุ์แจแปนบลูให้มีลักษณะต่างๆกัน เช่น ติดหางดาบล่าง(lower sword) หรือหางดาบคู่(double sword) สามารถทำได้โดยนำปลาป่าแจแปนบลูตัวผู้ที่มีหางกลมไปผสมกับปลาป่าตัวเมียหางดาบสายพันธุ์อื่นๆ หรือการทำให้มีครีบและหางรูปทรงอื่นสามารถทำได้โดยนำแจแปนบลูตัวผู้ผสมกับตัวเมียที่มีลักษณะที่ต้องการ ทำให้เราพบเห็นแจแปนบลูในแบบต่างๆมากมาย แต่ทุกสายพันธุ์ยังคงลักษณะสำคัญคือลำตัวสีฟ้าที่เป็นประกายเหมือนโลหะ





ลาซูลี (Lazuli)

    ในปี คศ.1999 Taketoshi Sue ได้พบปลาแจแปนบลู ที่มีสีฟ้าในส่วนหน้าของลำตัว เขาเรียกแจแปนบลูที่มีสีฟ้าตรงส่วนหน้านี้ว่า ลาซูลิ ซึ่งเป็นชื่อของอัญมณีสีฟ้าชนิดหนึ่ง เขาได้อธิบายไว้ว่า ลาซูลิ ประกอบด้วย สีฟ้าสองส่วนคือ แจแปนบลู และอีกส่วนคือสีฟ้าตรงส่วนหน้าที่เพิ่มเข้ามา โดยส่วนของสีฟ้าที่เพิ่มเข้ามานี้เป็นลักษณะถ่ายทอดทางเพศผู้เช่นเดียวกับแจแปนบลู ซึ่งต่อมาได้ปรากฎลาซูลิแบบต่างๆอีกหลายสายพันธุ์ โดยลาซูลิใช้เป็นชื่อเรียกปลาที่มีส่วนหน้าของลำตัวเป็นสีฟ้า




แพลตินัม (Schimmelpfennig Platinum)
            
           แพลตินัม เป็นลักษณะของเคลือบอีกแบบหนึ่งคล้ายโลหะเป็นมันวาวบริเวณส่วนหน้าของลำตัว ตั้งแต่บริเวณข้างแก้มไล่มาถึงกลางลำตัว โดยตำแหน่งที่เข้มและเด่นชัดที่สุดจะเป็นบริเวณส่วนที่อยู่เหนือครีบหู ซึ่งโดยปรกติจะเป็นสีทอง และเห็นได้ชัดเจนมากในปลาป่า แพลตินัมเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานผ่านทางเพศผู้ ความสวยงามสะดุดตาของแพลตินัมทำให้มีความนิยมในการนำลักษณะนี้มาติดในปลาสายพันธุ์ต่่างๆจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความมันวาวในส่วนหน้าของลำตัวปลา ในปัจจุบันพบว่ามีปลาหลายสายพันธุ์ที่มีลักษณะแพลตินัมติดมาด้วย บางสายพันธุ์ยังคงสีเหลืองทองชัดเจน ขณะที่บางสายพันธุ์อาจมีสีเปลี่ยนไปจากอิทธิพลของสีดั้งเดิมของปลาที่นำมาติดแพลตินัมเข้าไป เช่น ขาว เทา หรือน้ำเงินแต่ส่วนใหญ่ยังคงลักษณะมันวาวเหมือนโลหะให้เราสังเกตเห็นได้ ปลาที่พบว่ามีการเพิ่มลักษณะแพลตินัมเข้าไปบนตัวปลาที่เรารู้จักกันดี เช่น ฟูลแพลตินัม ฟูลโกลด์(โดยเฉพาะตัวที่มีชื่อเรียกว่าเอลโดราโด) นีออนทักสิโด และแพลตินัมโมเสค เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีอื่นๆอีกมากมายสุดแต่จินตนาการจะสร้างสรรค์ ตัวอย่างดังในรูป

ตัวอย่างภาพแรกนี้เป็นปลาที่เกิดจากผมใช้แพลตินัมไตรรงค์ที่ผมมีอยู่ผสมกับปลาป่าตัวเมีย โดยคาดหวังว่าจะออกมาเป็นปลาที่มีแพลตินัมในแบบย้อนกลับไปหาปลาป่า ซึ่งก็ได้ผลอย่างในภาพ 



ต้วอย่างภาพที่สอง เป็นปลาแพลตินัมที่มีส่วนหางเป็นสีแดง สีแดงมาจากแม่ที่เป็นฟูลเรด



ตัวอย่างภาพที่สาม ตัวนี้เป็นตัวทีทำให้ผมปลาดใจคือ แพลตินัมแจแปนบลู ซึ่งปรกติแล้วมันจะไม่เกิดแบบนี้เพราะทั้งแจแปนบลูและแพลตินัมต่างก็เป็นลักษณะถ่ายทอดทางเพศผู้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นไปได้ว่า มีแจแปนบลูตัวเมียบางตัวที่สามารถถ่ายทอดลักษณะแจแปนบลูได้ด้วย


อีกสักตัวอย่าง รูปนี้เป็นปลาทีเห็นบ่อยๆที่ตลาดนัด ถือว่าเป็นปลาจำนวนยอดนิยมตัวหนึ่ง แพลตินัมทักสิโดโมเสค





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น