วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิธีเลี้ยง

น้ำ

        น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาหางนกยูง ควรเป็นน้ำจืดที่สะอาด ไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ ไม่เป็นกรดเป็นด่่าง ในน้ำสามารถมีสารละลายที่ไม่่เป็นพิษ ไม่ควรมี คลอรีนซึ่งนิยมใช้ฆ่าเชื้อในน้ำ  แอมโมเนียจากการขับถ่าย ไนไตรท์จากการย่อยสลายของระบบจุลินทรีย์ที่ไม่สมบูรณ์  ไม่มีสารชีวภาพเช่นเศษอาหาร ขี้ปลามากจนเกินกว่าการย่อยสลายที่ตู้เลี้ยงสามารถรองรับได้ เศษอาหาร ขี้ปลาที่มากจนเกินไปส่งเสริมการเจริญของเชื้อโรค และการเป็นพิษของน้ำ
         ปลาหางนกยูงสามารถอยู่ในน้ำที่มีสารละลายทางธรรมชาติต่ำเช่น น้ำประปาที่ผ่านการพักเพื่อกำจัดคลอรีนแล้ว จนถึง น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีสารละลายสูง เมื่อเราได้ปลาหางนกยูงมาเราจะเริ่มต้นอย่างไร จะให้ปลานั้นอยู่ในน้ำแบบไหน จึงไม่ใช่สูตรที่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำอย่างทันทีเป็นอันตรายอย่่างยิ่งกับปลาหางนกยูง
        ในการปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำใหม่ของปลาหางนกยูง ถ้าเป็นการปรับตัวจากน้ำที่มีสารละลายต่ำ ไปสู่น้ำธรรมชาติที่มีสารละลายสูงกว่า จะทำได้ง่ายกว่า การปรับตัวจากน้ำเลี้ยงที่มีสารละลายสูงกว่าเช่นน้ำในบ่อหรือแหล่งน้ำธรรมชาติมาสู่น้ำที่มีสารละลายต่ำกว่าเช่นน้ำประปา เมื่อได้ปลามาใหม่การลอยถุงพลาสติกในตู้เพื่อปรับอุณหภูมิก่อนปล่อยปลาลงตู้ เป็นวิธีที่ใช้ได้ดี ถ้าน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาเดิมมีสภาพใกล้เคียงกับน้ำในตู้ของเรา หากน้ำที่ใช้มีความแตกต่างกัน เราควรเลี้ยงปลาในน้ำเดิมและค่อยๆเปลี่ยนถ่ายน้ำหรือเติมน้ำจนเป็นน้ำที่เราใช้เลี้ยงปลา ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน
      น้ำในตู้ปลาโดยทั่วไป เป็นน้ำที่เลี้ยงปลามาแล้วระยะหนึ่ง ในตู้จะมีระบบกรอง ซึ่งมีการย่อยเศษอาหารและของเสียได้ระดับหนึ่ง(ตู้เลี้ยงปลาหางนกยูงนิยมใช้การย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในกรองฟองน้ำ) สารละลายในน้ำจะประกอบด้วยสารจากการย่อยสลายของเสียที่ไม่เป็นพิษแล้ว รวมถึงสารหรือแร่ธาตุอื่นๆจากไม้น้ำและวัสดุอุปกรณ์ในตู้ ที่ละลายในน้ำได้ สิ่งใดๆที่ใส่ลงในตู้ปลาต้องระวังด้วยว่าอาจให้สารเป็นพิษละลายในน้ำ ปริมาณความเข้มข้นของสารละลายในน้ำจะขึ้นกับ จำนวนปลาในตู้ การถ่ายน้ำว่าถี่มากน้อยเพียงใด ประสิทธิภาพของระบบกรองและย่อยสลายของเสียในน้ำ
      การเลี้ยงปลาหางนกยูงนิยมเลี้ยงในตู้ โดยไม่มีอุปกรณ์ประดับตู้ ระบบกรองอาจเป็นกรองนอกตู้หรือกรองฟองน้ำ ทำให้ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย สิ่งสำคัญในการเลี้ยงปลาในตู้คือ ต้องคำนึงถึง การสมดุลของการเกิดของเสียและความสามารถของระบบการกำจัดและย่อยสลายสารที่เป็นพิษ ทำให้น้ำไม่เป็นพิษต่อปลา เช่นเมื่อปลาในตู้มีจำนวนมากการเกิดของเสียจากอาหารและการขับถ่ายของเสียมากเกินกว่าระบบย่อยสลายที่ระบบกรองจะกำจัดได้ทัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็จะต้องทำให้ถี่ขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดของเสียตกค้างในตู้มากเกินไป ในทางกลับกันถ้าปลาจำนวนน้อย การเกิดของเสียน้อย การย่อยสลายรวดเร็ว แต่การเลี้ยงปลาเป็นเวลานานโดยไม่มีการถ่ายน้ำ สารละลายในน้ำก็จะสะสมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลาให้เติบโตสวยงาม การถ่ายน้ำแต่น้อยในระยะเวลาที่ห่างขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ การเลี้ยงปลาให้แข็งแรงเจริญเติบโต นอกจากอาหารที่พอเพียง จึงยังต้องการการจัดการดูแลระบบการย่อยสลายและกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา

การจัดการน้ำ

แอมโมเนีย
     แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่มองไม่เห็นละลายในน้ำ สารแอมโมเนียเป็นสารที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ แหล่งกำเนิดของแอมโมเนีย เกิดจากการสลายของเศษอาหารที่หลงเหลือในตู้ปลา อาหารที่ให้ปลากินมากเกินไปทำให้ย่อยไม่หมดเมื่อขับถ่ายออกมา และส่วนหนึ่งที่ปลาขับออกมาทางเหงือก แอมโมเนียจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในตู้ปลา ในทางอุดมคติน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาต้องการให้มีแอมโมเนียเป็นศูนย์ ในทางปฎิบัติผู้เลี้ยงปลาต้องคุมแอมโมเนียให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในระบบเลี้ยงแบบปิด(ในตู้ในอ่าง ไม่ใช่แม่น้ำลำธาร) อาการเป็นพิษของแอมโมเนีย ปลาจะมีอาการทางเหงือกทำให้ไม่สามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เพียงพอ ในกระแสเลือดมีแอมโมเนียเพิ่มขึ้น เซลร่างกายถูกทำลาย อาการ เฉื่อย ว่ายน้ำแกว่ง ไม่กินอาหาร นอนก้น หายใจลำบาก เหงือกกางบวมแดง ลอยคอรวมกลุ่ม แถบแดงตามครีบหรือข้างลำตัว
       สำหรับปลา น้ำเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา และสัมผัสตลอดเวลา ในการเลี้ยงปลา เราส่วนใหญ่เลี้ยงในระบบปิด ความเข้าใจการเกิดและการกำจัดแอมโมเนียจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เราจะสามารถทำการควบคุมปริมาณแอมโมเนียให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อปลา และปลาสามารถอาศัยอยู่ได้ ทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้อย่างปรกติสุข การกำจัดแอมโมเนียในตู้ปลาทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำ การเป่าฟองอากาศ การใช้ระบบกรองชีวภาพ(bio filter) การย่อยสลายจากพืชน้ำ สาหร่ายเซลเดียว เป็นต้น


ระบบกรองชีวภาพ

   ระบบกรองชีวภาพ เป็นระบบกรองที่ทำการกรองและย่อยสลายแอมโมเนียในน้ำ โดยใช้จุลินทรีย์สองชนิด คือ Nitrosomonas Bacteria ย่อยแอมโมเนียเป็น ไนไตรท์(NO2) ซึ่งยังเป็นพิษต่อปลา และจุลินทรีย์ชนิดที่สองคือ Nitrobacter Bacteria  ทำการย่อย ไนไตรท์เป็น ไนเตรท(NO3) ซึ่งไม่เป็นพิษ แต่ทำให้น้ำเป็นกรดเมื่อมีปริมาณมากขึ้น จุลินทรีย์ทั้งสองชนิดนี้เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยบนพื้นผิววัสดุต่างๆในน้ำ ใช้ออกซิเจนช่วยในการย่อยสลายแอมโมเนีย ระบบนี้จึงควรมีพื้นผิวจำนวนมากเพื่อให้จุลินทรีย์อยู่อาศัย และมีออกซิเจนในน้ำสำหรับการทำงานของจุลินทรีย์ทั้งสองชนิด

 กรองฟองน้ำ
    กรองฟองน้ำเป็นกรองชีวภาพแบบง่ายๆขนาดเล็ก ประกอบด้วยฟองน้ำซึ่งมีรูพรุน รูพรุนของฟองน้ำทำให้มีพื้นที่ผิวจำนวนมาก อากาศจากเครื่องเป่าอากาศจะดันน้ำออกนอกตัวกรองทางท่อด้านบนโดยไม่ผ่านฟองน้ำ ทำให้เกิดแรงดูดน้ำด้านข้างผ่านฟองน้ำเข้าสู่ด้านในตัวกรอง น้ำที่มีแอมโมเนียจะผ่านผิวฟองน้ำ ถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายเป็นไนไตรท์ และไนไตรท์นี้เมื่อผ่านผิวที่มีจุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งจะถูกย่อยสลายเป็นไนเตรท
    กรองฟองน้ำที่เราซื้อมาใหม่จะยังไม่มีจุลินทรีย์ที่ว่านี้ อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อเลี้ยงหรือทำให้เกิดจุลินทรีย์ก่อนที่จะใช้ในการกรองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (เรียกการทำวัฏจักรไนโตรเจนในตู้ปลา Nitrogen Cycle)


ไบโอบอล (Bioball)
         ไบโอบอลคือลูกพลาสติกหรือวัสดุที่ออกแบบให้มีพื้นที่ผิวมากๆสำหรับให้จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายแอมโมเนียมาเกาะและเจริญเติบโตบนพื้นผิว ไบโอบอลจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องกรองโดยจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่น้ำที่สัมผัสกับอากาศหรือเติมอากาศแล้วไหลผ่าน แอมโมเนียในน้ำจะถูกย่อยสลายเมื่อผ่านจุลินทรีย์บนผิวไบโอบอล
         ตัวอย่างเครื่องกรองที่ใช้ไบโอบอลเช่นกรองข้างตู้ กรองมุมตู้ เครื่องกรองเหล่านี้จะติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อดันน้ำออกจากเครื่องกรองตรงส่วนล่างเข้าสู่บริเวณที่ปลาอาศัย น้ำที่ดันออกไปจะทำให้น้ำในตู้ล้นช่องด้านบนของเครื่องกรอง ไหลกลับเข้าสู่เครื่องกรองทางด้านบน ผ่านวัสดุกรอง เช่น เส้นใยสังเคราะห์ สำหรับกรองกากของเสียเศษอาหาร แล้วผ่านไบโอบอล ลงมายังปั๊มน้ำและถูกปั๊มน้ำดันออกสู่ภายนอกเครื่องกรองอีกครั้ง 


กรองใต้กรวด
       กรองชนิดนี้ประกอบด้วยตะแกรงวางบนพื้นตู้ กรวดซึ่งเกลี่ยทับบนตะแกรงอย่างสม่ำเสมอ ท่อหรือปล่องสำหรับเป่าอากาศเพื่อหมุนเวียนน้ำ ปลายท่อด้านล่างจะอยู่ด้านใต้ตะแกรง เมื่อเป่าอากาศจากปลายท่อด้านล่าง อากาศจะพาน้ำด้านใต้ตะแกรงให้ไหลผ่านขึ้นไปตามท่อไปออกที่ด้านบน ทำให้เกิดแรงดูดด้านใต้ตะแกรง น้ำในตู้จะถูกดูดผ่านกรวดลงสู่ใต้ตะแกรง ตะกอนของเสียต่างๆจะฝังตัวในกรวด แอมโมเนียจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนผิวก้อนกรวด



        ระบบกรองชีวภาพใช้จุลินทรีที่เติบโตบนพื้นผิววัสดุกรองภายในตู้ร่วมกับออกซิเจนในน้ำทำการย่อยสลายแอมโมเนีย วัสดุกรองทีกล่าวมาจึงเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น เราอาจใช้วัสดุอื่นๆที่มีพื้นผิวมากทดแทนวัสดุฟองน้ำ ก้อนกรวด หรือไบโอบอลได้ อันที่จริงแล้วแม้แต่ผนังตู้ทั้งห้าด้านต่างเป็นพื้นผิวสำหรับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี เพียงจุลินทรีย์บนผนังตู้บดบังทัศนียภาพของตู้ ถ้าเป็นการเลี้ยงภายในบ้านโดยจัดตู้ติดผนัง การทำความสะอาดตู้ให้ใสเพียงด้านที่เรามองดูปลาจะช่วยเพิ่มพื้นผิวได้อีกมาก

หมายเหตุ ระบบกรองที่ใช้ปั๊มน้ำ น้ำที่ผ่านปั๊มมีการไหลค่อนข้างแรง จึงไม่ค่อยเหมาะกับตู้ขนาดเล็ก ปลาจะเหนื่อยในการทวนน้ำ ไบโอบอล ก้อนกรวด วัสดุกรองต่างๆ เช่นเดียวกับกรองฟองน้ำ เริ่มแรกเมื่อซื้อมาใหม่ จะยังไม่มีสมบัติในการกำจัดแอมโมเนียได้ จนกว่าจะผ่านกระบวนการที่เรียก วัฏจักรไนโตรเจน แล้ว

การสร้างวัฏจักรไนโตรเจนในตู้ใหม่

    เมื่อเรามีความจำเป็นต้องขึ้นตู้ใหม่สำหรับเลี้ยงปลา ถ้าตู้ปลาและอุปกรณ์ต่างๆในตู้เป็นของใหม่ รวมทั้งน้ำซึ่งอาจเป็นน้ำประปาที่ได้พักกำจัดคลอรีนแล้ว ในระบบนี้ จะเห็นได้ว่าเรายังไม่มีกลไกการกำจัดแอมโมเนียในน้ำ เมื่อเรานำปลาลงปล่อยในน้ำ แม้มีการพยายามปรับสภาพน้ำให้ปลามีความคุ้นเคยกับน้ำอย่างช้าๆแล้วก็ตาม ปลาก็ยังพากันล้มตายในสองสัปดาห์แรก อาการตายของปลานี้เรียก กลุ่มอาการขึ้นตู้ใหม่ (new tank syndrome ) กลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นจาก ของเสียต่างๆในน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากอาหารและการขับถ่าย ทำให้ปริมาณแอมโมเนียเพิ่มขึ้น เชื้อโรคในน้ำเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันระบบกรองของตู้ก็กำลังสร้างจุลินทรีย์เพื่อช่วยย่อยสลายแอมโมเนียไปพร้อมกัน(แต่ยังไม่พร้อมเต็มที่) หากการจัดการตู้ไม่เหมาะสม ปลาก็จะเกิดโรค และเกิดอาการเป็นพิษจากแอมโมเนีย ทำให้ปลาตายจำนวนมาก
       การทำวัฏจักรไนโตรเจน (nitrogen cycle) เป็นการทำให้เกิดจุลินทรีย์ทั้งสองชนิดที่ทำหน้าที่ย่อยสลายแอมโมเนียจนเป็นไนเตรทในวัสดุกรอง ให้มีจำนวนมากสมดุลกับการเกิดแอมโมเนียในน้ำ เพื่อย่อยสลายแอมโมเนียดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น การเจริญเติบโตของกลุ่มจุลินทรีย์นี้ต้องอาศัยแอมโมเนียและอากาศในน้ำ การทำวัฏจักรไนโตรเจนจึงจำเป็นต้องมีแหล่งให้แอมโมเนียและให้อากาศในน้ำ ซึ่งอาจทำโดยไม่มีปลาในตู้ หรืออาจทำโดยการเลี้ยงปลาไปพร้อมกัน
      การทำวัฏจักรไนโตรเจนโดยไม่มีปลาในตู้ จะเดินระบบกรองเป่าลมในน้ำและให้แอมโมเนียในน้ำโดยแหล่งแอมโมเนียจะได้มาจากสารเคมี หรือเศษของเสียเช่นเศษเนื้อที่ทิ้งให้สลายเป็นแอมโมเนีย ซึ่งมักมีกลิ่นรบกวนจึงไม่นิยม ส่วนการใช้สารเคมีจะต้องวัดปริมาณแอมโมเนีย และคอยคุมให้คงที่ด้วยการเติม พร้อมกับวัดปริมาณไนเตรทที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงการเกิดจุลินทรีย์ทั้งสองชนิด
     การทำวัฏจักรไนโตรเจนแบบเลี้ยงปลาไปด้วยพร้อมกัน เมื่อเริ่มต้นระบบ ควรควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีกับแต่ละมื้อไม่ให้มีอาหารตกค้าง กรณีนี้จะต้องคอยสังเกตอาการของปลาและคอยถ่ายและเติมน้ำใหม่เพื่อคุมปริมาณแอมโมเนีย เช่นปลาเริ่มลอยหายใจผิวน้ำมากขึ้น ไม่ตื่นตัวหาอาหาร ว่ายน้ำแกว่ง ให้ถ่ายน้ำและเติมน้ำใหม่เพื่อลดความเข้มข้นแอมโมเนียในน้ำ งดอาหารบางมื้อและเพิ่มออกซิเจนในน้ำอาจใช้หัวทรายละเอียดสำหรับเป่าอากาศร่วมด้วย ซึ่งการเป่าอากาศสามารถช่วยลดแอมโมเนียได้เช่นกัน ทั้งนี้ในการเปลียนน้ำไม่ควรทำคราวละมากๆด้วยเหตุผลดังได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องน้ำ ถ้าระหว่างนี้มีปลาตัวใดมีอาการเน่าเปื่อย แกว่ง อาจเป็นได้จากพิษแอมโมเนียหรือจากเชื้อโรคในน้ำที่เจริญเติบโตจนก่อโรค ให้แยกปลาตัวนั้นออกพร้อมน้ำในตู้ส่วนหนึ่ง เติมน้ำสะอาดครึ่งหนึ่ง ใส่ยาแก้อักเสบทำการรักษา ถ้าอาการเกิดจากการติดเชื้อก็สามารถหายได้ ไม่ควรใส่ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะนี้ลงในตู้เพราะอาจทำลายจุลินทรีย์ที่เรากำลังเลี้ยงทำให้ระบบล่ม ต้องเริ่มกันใหม่  จำนวนปลาที่ใช้สำหรับการเริ่มต้นกับตู้ใหม่ไม่ควรมากเกินไปจะทำให้แอมโมเนียขึ้นสูงเร็วมากอาการเป็นพิษรุนแรงและคุมไม่ได้ สูญเสียปลาทั้งหมด
     หลังจากผ่านวัฏจักรไนโตรเจนแล้ว (ไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์) ปลาที่เหลืออยู่จะเริ่มมีกิจกรรมในน้ำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตื่นตัว วิ่งไล่กันตลอดเวลา ตอดหาอาหารตามผนัง ลงหาอาหารก้นตู้ เคลื่อนไหวรวดเร็ว ไม่มีอาการลอยคอว่ายน้ำอยู่กับที่ ถึงเวลา congratulation ครับ

การสร้างวัฏจักรไนโตรเจนจากตู้เก่า
     เมื่อได้ทำวัฏจักรไนโตรเจนกับตู้แรกแล้ว การทำตู้ใหม่ลำดับถัดไปจะสามารถทำได้เร็วขึ้น โดยใช้วัสดุตั้งต้นจากตู้เดิม เช่นเราอาจเตรียมกรองฟองน้ำอันใหม่ในตู้เก่าซึ่งเชื้อจะเจริญอย่างรวดเร็วแล้วย้ายกรองนั้นมาไว้ตู้ใหม่ หรือแบ่งวัสดุอื่นที่อยู่ในตู้เก่ามายังตู้ใหม่เช่น กรวด ไบโอบอล ตะกร้าลูกปลา เป็นต้น ส่วนวิธีการอื่นๆ คงเป็นเช่นเดียวกับการขึ้นตู้ใหม่ทั้งหมด

ไนเตรท

      เมื่อเราประสบความสำเร็จในการสร้างระบบให้เกิดจุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายแอมโมเนียได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ไนเตรท ซึ่งเป็นผลพวงจากการย่อยสลาย ถ้าเราเลี้ยงปลาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำจัดไนเตรท ออกไป น้ำจะเป็นกรดมากขึ้น เรื่อยๆ และสุดท้าย ระบบจุลินทรีย์ที่เราสร้างขึ้นก็จะชะงัก คุณภาพน้ำเริ่มไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของปลา
        ไนเตรทเป็นสารอาหารของพืชต่างๆ สาหร่าย พืชน้ำต่างๆ รวมถึงสาหร่ายเซลเดียว(น้ำเขียว)  สำหรับการเลี้ยงนอกอาคารในอ่างหรือในบ่อ พืชน้ำเหล่านี้สามารถกำจัดไนเตรทให้กับอ่างปลาได้ดี ส่วนการเลี้ยงปลาหางนกยูงในตู้ส่วนใหญ่ไม่นิยมใส่ไม้น้ำ(ทั้งนี้แล้วแต่ความชอบ) การกำจัดไนเตรทก็ทำได้ง่ายๆ โดยเปลี่ยนน้ำในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังที่เราเคยได้ยินคำแนะนำจากผู้เลี้ยงรุ่นก่อนที่มักบอกกับผู้เริ่มเลี้ยงปลา ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ทุกสัปดาห์บ้าง หรือทุกสามวันบ้าง การเปลียนน้ำสามารถคุมปริมาณไนเตรทให้อยู่ในระดับต่ำ สำหรับตู้ที่ผ่านวัฎจักรไนโตรเจนแล้ว ซึ่งผู้เลี้ยงอาจใช้โอกาสนี้ดูดเศษตะกอนต่างๆก้นตู้ทิ้งเป็นการทำความสะอาดไปพร้อมกัน


อาหาร 

      ปลาหางนกยูง สามารถจะกินสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ลอยอยู่ในน้ำทั้งพืชและสัตว์เล็กๆ เช่น สาหร่ายเซลเดียว zooplanktonไรแดง ลูกน้ำ ลูกไรทะเล ไปจนถึงอาหารสำเร็จที่ผลิตมาสำหรับปลาหางนกยูง เราอาจจำแนกอาหารสำหรับปลาหางนกยูง เป็นอาหารลูกปลา และอาหารปลาที่เริ่มโตแล้ว

อาหารลูกปลา
      อาหารสำหรับลูกปลาจะเป็นอาหารพวกแพลงตอนพืชและสัตว์ในน้ำ ไรแดง ลูกไรทะเลเกิดใหม่ ลูกปลาไม่สามารถกินอาหารอื่นๆที่ไม่ได้ออกแบบเฉพาะสำหรับลูกปลา แม้จะบดให้ละเอียดจนปลาสามารถกลีนกินได้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะระบบทางเดินอาหารของลูกปลาจะยังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถย่อยอาหารสำหรับปลาใหญ่ได้ 

อาหารปลาใหญ่
       เมื่อลูกปลาเริ่มโตขึ้น เราสามารถค่อยๆให้อาหารปลาใหญ่ โดยอาจเริ่มให้แต่น้อยก่อน เมื่อปลาเริ่มกินอาหารได้ดีแล้วจึงเพิ่มปริมาณอาหารปลาใหญ่ ปลาใหญ่จะสามารถกินอาหารเช่นเดียวกับลูกปลา และสามารถกินอาหารสำเร็จรูปอื่นๆได้อีกหลากหลาย ในการให้อาหารปลาใหญ่ ปลาจะสมบูรณ์ได้ ต้องมีอาหารสดประกอบด้วย อาหารสดได้แก่ ลูกไรทะเล ไรแดง ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น ส่วนอาหารสำเร็จจะมีทั้งแบบเม็ดและเป็นผงลอยน้ำ อาหารเม็ดที่มีขนาดใหญ่สามารถลอยน้ำและอ่อนตัว ปลาสามารถตอดกินได้ อาหารผงชนิดลอยผิวน้ำก็สามารถใช้ได้ดีเช่นกัน การให้อาหารอาจให้วันละสองมื้อ โดยต้องมีอาหารสดหนึ่งมื้อ
       การจัดหาอาหารปลาสำเร็จรูปควร เลือกซื้อจากบริษัทผลิตอาหารที่เชื่อถือได้ หรือจากผู้ผลิตอาหารที่เป็นที่เชื่อถือ มีตัวอย่างผู้ใช้เลี้ยงปลาว่าสามารถให้ผลผลิตปลาที่ดีแข็งแรง(อาจหาข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์)
      ข้อพึงระวังในการให้อาหารปลาคืออย่าให้มากจนเกินไป อาหารที่เหลือมากเกินไป ถ้าระบบเลี้ยงไม่สามารถรองรับย่อยสลายเศษอาหารเหล่านี้ จะทำให้น้ำเน่าเสีย เกิดการเจริญของเชื้อโรค เช่นหางกร่อน เกล็ดตั้ง ทำให้ปลาเจ็บป่วยและตายได้ การให้อาหารในปริมาณมากเพียงครั้งเดียวในแต่ละวันจะทำให้พุงปลาเต่งผิดรูปปลาไม่แข็งแรง รูปทรงปลาไม่สวยงาม ถ้าต้องการให้ปลาเติบโตไว มีรูปทรงที่ดี ควรให้อาหารแต่น้อย แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น


5 ความคิดเห็น: